ประวัติคณะวิทยาศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ได้ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวิทยาลัยครู พ.ศ. 2518 โดยการดำเนินการในระยะแรกได้เปิดสอนในระดับ ปกศ. ชั้นสูง และปริญญาตรีเฉพาะสาขาการศึกษา โครงสร้างการบริหารประกอบด้วย 9 ภาควิชา ได้แก่ ภาควิชาเกษตรศาสตร์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ ภาควิชาเคมี ภาควิชาชีววิทยา ภาควิชาฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ทั่วไป ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ ภาควิชา หัตถศึกษาและอุตสาหกรรมศิลป์ ภาควิชาสุขศึกษา และภาควิชาพลศึกษาและนันทนาการ
ในปี พ.ศ. 2524 เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเศรษฐกิจ มีประชาชนต้องการเข้าศึกษาในวิทยาลัยครูเป็นจำนวนมาก ประกอบด้วยนโยบายของรัฐบาลต้องการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชน จึงมีโครงการให้คณะวิชาเปิดสอนสาขาอื่นที่ไม่ใช่วิชาชีพครูขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า หลักสูตรเทคนิคการอาชีพ โดยคณะวิชาวิทยาศาสตร์ได้เปิดสอนในสาขา ก่อสร้าง ช่างยนต์ คหกรรม และเกษตร ปี พ.ศ. 2527 ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติวิทยาลัยครู (ฉบับที่ 2) มีผลให้วิทยาลัยครูสามารถผลิตกำลังคนโปรแกรมวิชาชีพอื่นอย่างชัดเจน และในปี พ.ศ. 2528 คณะวิชาวิทยาศาสตร์จึงได้เปิดสอนนักศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์นอกเหนือจากโปรแกรมวิชาการศึกษา ตามหลักสูตรวิทยาลัยครู พ.ศ. 2528 และได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารภายในบางส่วน ได้แก่ ภาควิชาคณิตศาสตร์เปลี่ยนเป็นภาควิชาคณิตศาสตร์และสถิติ ภาควิชาสุขศึกษาเปลี่ยนเป็นภาควิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ และให้ภาควิชาพลศึกษาและนันทนาการสังกัดในคณะวิชาครุศาสตร์ ปี พ.ศ. 2530 คณะวิชาวิทยาศาสตร์ได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้จัดตั้งภาควิชาคอมพิวเตอร์ ทำการเปิดสอนหลักสูตรโปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์ในระดับอนุปริญญา ปี พ.ศ. 2536 ได้เปิดสอนโดยใช้หลักสูตรปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์ ตามหลักสูตรวิทยาลัยครูฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2536 ปี พ.ศ. 2538 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันราชภัฏ และได้ยกฐานะวิทยาลัยครูเป็นสถาบันราชภัฏ และคณะวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปี พ.ศ. 2541 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารเป็นแบบโปรแกรมวิชา โดยแบ่งออกเป็น 17 โปรแกรมวิชา ได้แก่โปรแกรมวิชาฟิสิกส์ โปรแกรมวิชาเคมี โปรแกรมวิชาชีววิทยาประยุกต์ โปรแกรมวิชาคณิตศาสตร์ โปรแกรมวิชาสถิติประยุกต์ โปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์ โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ โปรแกรมวิชา คหกรรมศาสตร์ โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (ก่อสร้าง) โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม(อิเล็กทรอนิกส์) โปรแกรมวิชาออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร โปรแกรมวิชาพืชศาสตร์ โปรแกรมวิชาสัตวบาล โปรแกรมวิชาสัตวรักษ์ โปรแกรมวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา
ในปี พ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตามกฎกระทรวงศึกษาธิการ เป็น 10 ส่วนราชการ โดยจัดตั้งส่วนราชการคณะวิทยาศาสตร์และคณะเทคโนโลยี แยกออกจากกัน ซึ่งในปีการศึกษา 2548 คณะวิทยาศาสตร์ มีสาขาวิชาที่เปิดสอน คือ สาขาวิชาฟิสิกส์ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาสถิติประยุกต์ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา สาขาวิชาสุขศึกษา
ในปี พ.ศ. 2549 คณะวิทยาศาสตร์มีสาขาวิชาที่เปิดสอน คือ สาขาวิชาฟิสิกส์ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาสถิติประยุกต์ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา และสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และสุขศึกษา
ในปี พ.ศ. 2550 คณะวิทยาศาสตร์มีสาขาที่เปิดสอน คือ สาขาวิชาฟิสิกส์ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาสถิติประยุกต์ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา และสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์
ในปี พ.ศ. 2551 จนถึงปัจจุบัน ทางคณะวิทยาศาสตร์ได้ศึกษา วิเคราะห์สภาพและการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนความต้องการของท้องถิ่นเพื่อนำผลมาใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้แก่ อาคารสถานที่ ห้องปฏิบัติการ บุคลากร ตลอดจนหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งมีสาขาวิชาที่เปิดสอนในปัจจุบัน คือ สาขาวิชาฟิสิกส์ สาขาวิชาเคมี สาขาวิชาชีววิทยาประยุกต์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สาขาวิชาสถิติประยุกต์ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา และสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์ มีจำนวนนักศึกษาในปีการศึกษา 2555 ระดับปริญญาตรีภาคปกติ 3,403 คน และภาคพิเศษ 833 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 4,236 คน
พันธกิจ
๑. จัดการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ คุณธรรม จริยธรรม โดยพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการปฏิรูประบบการเรียนรู้ มีความตระหนักถึงคุณค่าความเป็นไทยและวัฒนธรรมไทย มีความรักและความผูกพันในท้องถิ่น
๒. พัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้วยระบบการบริหารจัดการที่ดี
๓. สร้างสรรค์และพัฒนางานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ โดยการบูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมกับภูมิปัญญาไทยอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
๔. เสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของสังคมโดยการให้บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น
เป้าหมาย
๑. มีการจัดการศึกษาเพื่อผลิตบุคลากรทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ คุณธรรม โดยพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการปฏิรูประบบการเรียนรู้ มีความตระหนักในคุณค่าความเป็นไทยและวัฒนาธรรมไทย มีความรักและผูกพันกับท้องถิ่น
๒. พัฒนาคณะวิทยาศาสตร์เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ ด้วยระบบบริหารจัดการที่ดี
๓. สร้างสรรค์งานวิจัยและพัฒนางานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ บูรณาการงานวิจัยกับนวัตกรรมภูมิปัญญาไทยอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของสังคมท้องถิ่นและประเทศชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
๔. เสริมสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงของสังคมโดยการให้บริการเชิงวิชาการที่มีคุณภาพและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
ตราสัญลักษณ์:
วิสัยทัศน์: คณะวิทยาศาสตร์เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีระบบการบริหารจัดการที่ดี มุ่งผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ คู่จริยธรรม พัฒนางานวิจัย และบูรณาการศาสตร์สากลกับภูมิปัญญาไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปรัชญา: มุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพบัณฑิตสู่มาตรฐาน บูรณาการและพัฒนาองค์ความรู้ นำเทคโนโลยีสู่ชุมชน พัฒนาคนและท้องถิ่นอย่างยั่งยืน
สีประจำ: สีเหลือง
อัตลักษณ์: ผู้นำวิทยาศาสตร์ อาสาพัฒนาท้องถิ่น
เอกลักษณ์: สร้างคนวิทยาศาสตร์ เพื่อชาติเพื่อชุมชน